พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากนักจับภาพ ‘ปลากัด’ สู่นักสร้างแบรนด์จากปลากัดคนแรกของไทย

by admin
0 comment

ไบร์ท พัชร อุ่นแสงจันทร์

จากนักจับภาพ ‘ปลากัด’
สู่นักสร้างแบรนด์จากปลากัดคนแรกของไทย
ศิลปินภาพถ่าย เผยผลงาน art and fashion design
เพื่อให้คนทั่วโลก รู้จักปลากัด ในมุมมอง ผลิตภัณฑ์ ใหม่

Read At ONCE

  • มารู้จักปลากัดในมุมมองของช่างภาพผู้ทุ่มเทให้กับการถ่ายปลากัด เขาไม่เพียงศึกษาเรื่องราวต่างๆ ของปลากัดแต่ละสายพันธุ์เท่านั้น แต่ยังใช้เวลาสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของปลากัดเพื่อให้การถ่ายภาพนั้นสมบูรณ์ที่สุด
  • นอกจากคุณไบรท์จะได้ภาพปลากัดแล้ว เขายังได้รับมิตรภาพดีๆ จากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัดในฐานะที่เป็นคนที่มีแพชชั่นเดียวกัน
  • จากที่เคยคิดทดสอบความสามารถในการถ่ายภาพของตัวเองด้วยการมาถ่ายปลากัดที่ใครก็ออกคำสั่งไม่ได้ ภาพถ่ายปลากัดของเขาได้ไปไกลกว่าที่เจ้าตัวคิดไว้ ทั้งการนำไปทำแสตมป์ชุดปลากัด ภาพประกอบในหนังสือปลากัดของกรมประมง แต่ที่ทำให้คุณไบรท์ภูมิใจมากที่สุดคือภาพถ่ายปลากัดของเขาได้ต่อยอดธุรกิจให้กับเกษตรกรเจ้าของปลาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • คุณไบรท์ได้ถ่ายทอดความสวยงามของปลากัดลงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชื่อแบรนด์ Luna Garden ได้แก่ ผ้าพันคอ ถุงผ้า กระเบื้อง ร่ม และรองเท้าแตะ

ครั้นในอดีต

“เมื่อก่อนไม่เคยเข้าใจความเป็นศิลปินของ อ.ถวัลย์ ดัชนี แต่พอได้ถ่าย ‘ปลากัด’ ผมรู้แล้วว่าความสุขและการมีอิสระที่ได้ทำในสิ่งที่รักเป็นยังไง
แม้จะต้องบินเดี่ยวเหมือนนกอินทรี และใช้เวลากว่าจะมีใครเข้าใจและยอมรับผลงานที่เราทำ แต่ที่สุดปลากัดก็ทำให้ผมหลุดจากกรอบจำกัดของการเป็นช่างภาพอาชีพ”

นี่คือสิ่งที่คุณไบรท์ – พัชร อุ่นแสงจันทร์ ช่างภาพหนุ่มผู้นี้บอกกับฉัน

ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าปลากัดตัวกระจ้อยร่อยนี่น่ะเหรอ ทำให้เขาตกผลึกความคิดได้ขนาดนี้ ยอมสละเครดิต 10 ปีกับของการเป็นช่างภาพแนวอีโรติกอาร์ต และ 5 ปีในการเป็นช่างภาพแมกกาซีน แล้วมาเริ่มต้นจากศูนย์ในการถ่ายปลากัด เพียงเพราะนึกท้าทายความสามารถตัวเอง

จากวันนั้นถึงปัจจุบัน 3 ปีแล้ว เขาใช้เวลากว่า 5,000 ชั่วโมงไปกับการถ่ายปลากัดหลายพันตัว แล้วก็ยังสนุกและมีความสุขกับสิ่งนี้ สำหรับคุณไบรท์ ปลากัดจึงไม่ใช่แค่สัตว์น้ำที่เลี้ยงเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ปลากัดเป็นเหมือนอีกหนึ่งพาร์ตเนอร์สำคัญในชีวิต ที่เป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน เพื่อนเดินทาง และหุ้นส่วนธุรกิจก็ว่าได้

ที่สำคัญปลากัดทำให้เขา ‘ได้ทำ’ ในสิ่งที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะ ‘ทำได้’

ภาพถ่ายปลากัด

ทำไมต้องเป็นปลากัด

แต่ก่อนผมเคยเป็นนักร้องกลางคืน แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นช่างภาพ ถ่ายนางแบบทั้งโป๊มากโป๊น้อยมาหมดแล้ว มีสาวๆ มาถอดเสื้อผ้าตรงหน้าทุกวัน เห็นจนไม่รู้สึกตื่นเต้นล่ะ เลยคิดว่าตัวเองน่าจะอิ่มตัวแล้ว เป็นคนใช้ชีวิตค่อนข้างเอกซ์ตรีม อยากไปไหนก็ไป มีงานที่ไหนก็ทำ ผมรู้ตัวว่าชอบถ่ายรูปก็ย้ายสายงานไปเรื่อยๆ อยากเรียนรู้ให้ครบ มีไปถ่ายงานข่าวบ้าง กีฬาบ้าง แล้วก็ได้ไปเป็นช่างภาพแมกกาซีน แต่พอมีครอบครัวก็อยากทำอะไรที่ซอฟต์ลงบ้าง แล้วผมก็ไม่จับกล้องเลยอยู่ร่วมปี

กลับมาอีกครั้ง

จังหวะที่กลับมาจับกล้องอีกครั้งเป็นช่วงที่ฮิตถ่ายปลากัดกัน ผมคิดแค่ว่า ถ้าคนอื่นถ่ายได้ เราก็น่าจะถ่ายได้ คิดแค่นั้นจริงๆ ก็ไปจตุจักรเลย ไปเดินหาซื้อปลากลับมาฝึกถ่ายที่บ้าน เห็นตัวเล็กๆ แบบนี้ ถ่ายยากมากครับ ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ แล้วปลากัดก็สั่งไม่ได้เหมือนนางแบบด้วยนะว่าอยากให้โพสท่าไหน (หัวเราะ) ระบบการทำงานที่เคยสั่งสมมาเลยต้องปรับใหม่หมด จากไฟสตูดวงใหญ่ต้องเปลี่ยนเป็นแฟลชตัวเล็ก จะถ่ายปลากัดนี่ต้องทำการบ้านเยอะนะ

เป็นความยุ่งยากที่รู้สึกท้าทาย

ใช่เลยครับ ผมไม่ได้คิดเรื่องขายภาพหรือเงินที่จะได้รับจากการถ่ายปลากัดเลย แค่อยากลองชาเลนจ์ตัวเองดู กระทั่งรูปปลากัดที่ผมถ่ายแล้วโพสต์ลงในเว็บไว้มีคนแชร์ต่อๆ กันไปเป็นพัน จนผู้ใหญ่ในกรมประมงเห็นเข้า ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมประกาศขึ้นทะเบียนให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ เลยติดต่อผมเพื่อขอใช้ภาพ

แล้วมาถ่ายปลากัดจริงจังตอนไหน

ตอนที่กรมประมงจะทำหนังสือเกี่ยวกับปลากัด การถ่ายปลากัดของผมจึงกลายเป็นงานวิชาการ ทำให้ผมหันมาศึกษาเรื่องปลากัด ตั้งแต่ชื่อทางวิทยาศาสตร์​ สายพันธุ์ต่างๆ ลักษณะเด่นและพฤติกรรม ยิ่งรู้ก็ยิ่งสนุกครับ เหมือนได้รู้จักปลากัดมากขึ้น รู้ไปถึงบรรพบุรุษของปลากัด ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือในกฎหมายตราสามดวง (ประมวลกฎหมายในรัชสมัย ร.1 ที่ชำระจากกฎหมายเก่าที่มีมาแต่โบราณ) เขียนไว้ว่า ‘ห้ามเล่นพนันชนไก่ ชนนก กัดปลา’ แสดงว่าปลากัดต้องมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อยครับ

พอรู้จักปลากัดแต่ละสายพันธุ์แล้ว ตอนไปฟาร์มที่เพาะเลี้ยงปลากัด ทำให้ผมมั่นใจและมีเป้าหมายในการเลือกปลานายแบบมากขึ้น แต่ถึงจะได้ปลากัดตัวเจ๋งๆ ในแต่ละสายพันธุ์มา ก็ต้องมาลุ้นต่อที่บ้านตอนถ่ายอีกทีว่าจะเป็นยังไง เพราะแต่ละตัวตอบสนองต่อสิ่งเร้าแตกต่างกัน รวมถึงอุณหภูมิ สี แสง และอาหารก็มีผลกับปลากัดแต่ละตัวด้วย ที่สำคัญคาแรกเตอร์ปลาแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกัน บางตัวอาจจะลักษณะดีสีสวยแต่ว่ายไม่สวยก็มี

แล้วมาถ่ายปลากัดจริงจังตอนไหน

ตอนที่กรมประมงจะทำหนังสือเกี่ยวกับปลากัด การถ่ายปลากัดของผมจึงกลายเป็นงานวิชาการ ทำให้ผมหันมาศึกษาเรื่องปลากัด ตั้งแต่ชื่อทางวิทยาศาสตร์​ สายพันธุ์ต่างๆ ลักษณะเด่นและพฤติกรรม ยิ่งรู้ก็ยิ่งสนุกครับ เหมือนได้รู้จักปลากัดมากขึ้น รู้ไปถึงบรรพบุรุษของปลากัด ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือในกฎหมายตราสามดวง (ประมวลกฎหมายในรัชสมัย ร.1 ที่ชำระจากกฎหมายเก่าที่มีมาแต่โบราณ) เขียนไว้ว่า ‘ห้ามเล่นพนันชนไก่ ชนนก กัดปลา’ แสดงว่าปลากัดต้องมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อยครับ

พอรู้จักปลากัดแต่ละสายพันธุ์แล้ว ตอนไปฟาร์มที่เพาะเลี้ยงปลากัด ทำให้ผมมั่นใจและมีเป้าหมายในการเลือกปลานายแบบมากขึ้น แต่ถึงจะได้ปลากัดตัวเจ๋งๆ ในแต่ละสายพันธุ์มา ก็ต้องมาลุ้นต่อที่บ้านตอนถ่ายอีกทีว่าจะเป็นยังไง เพราะแต่ละตัวตอบสนองต่อสิ่งเร้าแตกต่างกัน รวมถึงอุณหภูมิ สี แสง และอาหารก็มีผลกับปลากัดแต่ละตัวด้วย ที่สำคัญคาแรกเตอร์ปลาแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกัน บางตัวอาจจะลักษณะดีสีสวยแต่ว่ายไม่สวยก็มี

เล่าถึงขั้นตอนการถ่ายปลากัดหน่อย

ตระเวนตามฟาร์มเพื่อคัดเลือกปลากัดแคนดิเดตมาสายพันธุ์ละ 10 ตัว แต่กว่าจะคัดได้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะทุกฟาร์มเลี้ยงปลากัดในขวดแบนๆ เรียงแน่นเป็นแสนๆ ใบ ถึงเจ้าของฟาร์มจะคัดตัวที่ชนะการประกวดมาให้ ก็ต้องใช้ไฟฉายส่องดูหรือเทออกจากขวดเพื่อดูความสมบูรณ์ของครีบหาง สีสัน และท่าทางการว่าย แต่ข้อมูลอย่างอื่นฟาร์มจะบอกเราไม่ได้เลย เช่น นิสัยปลาเป็นยังไง ชอบกินอะไร เพราะเขาเลี้ยงเยอะ ผมเลยต้องกลับมาเลี้ยงที่บ้านอย่างน้อยสัปดาห์หนึ่งก่อนถ่าย เพื่อให้ปลาปรับตัวให้คุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศจริงที่จะใช้ถ่าย ระหว่างนั้นก็ต้องคอยสังเกตว่าตัวไหนชอบกินอะไร ลูกน้ำ อาหารสด หรืออาหารเม็ด และต้องฝึกให้ปลาคุ้นเคยกับแสงไฟ แสงแฟลช และชินกับเสียงชัตเตอร์ เพราะผมสังเกตได้ว่าปลากัดจะมีชีวิตชีวาตอนกลางคืนมากกว่า

นอกจากได้ปลาจากฟาร์มแล้ว ก็มีปลากัดป่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ตามธรรมชาติมาถ่ายด้วย พวกนี้ขี้กลัวขี้ตกใจ ถ้ากลัวแล้วสีซีดหางไม่คลี่ แล้วว่ายไว ฉะนั้น ถ้าช่างภาพไม่มีทักษะการถ่ายปลาและอุปกรณ์กล้องไม่ดี ก็เป็นอุปสรรคในการถ่ายด้วยครับ

!!!เจอสถานการณ์นั้นแก้ไขยังไง

การฝึกให้ปลาอยู่ในสภาพแวดล้อมและบรรยากาศเดียวกับตอนถ่ายช่วยได้ อย่างแสงแฟลช แรกๆ เขาก็กลัว แต่พอเริ่มคุ้น รู้แล้วว่าไม่มีอันตราย เขาก็ปรับตัวได้ เหมือนเราเลี้ยงปลากับแสงไฟเลย น้ำของปลากัดก็ต้องอุณหภูมิห้อง เพราะปลาไม่ชอบอยู่ห้องแอร์​ช่างภาพก็ต้องทนร้อนเอานะ (หัวเราะ) แต่ถ้าให้อยู่ในที่อากาศเย็นบ่อยๆ ปลาจะปรับตัวได้ สิ่งเหล่านี้ผมเรียนรู้จากการสังเกตและได้จากข้อมูลในหนังสือ

ปลากัดเชื่องไหม แสดงออกยังไง

อย่างผมให้อาหารเขาทุกวัน พอถึงเวลา แค่เคาะตู้ ก็จะว่ายมาแล้ว บางทีเอานิ้วจุ่มน้ำนิดนึงเพื่อแตะให้อาหารปลาติดแล้วค่อยจุ่มนิ้วลงน้ำ ปลาก็จะค่อยๆ คุ้นเคยกับนิ้วเรา บางทียกนิ้วที่มีอาหารปลาติดอยู่ขึ้นเหนือน้ำนิดนึง เขาก็จะกระโดดมากิน ผมว่าปลากัดก็ฝึกได้เหมือนสัตว์อื่นๆ แค่ต้องใช้เวลา กว่าเขาจะคุ้นกับเรา แต่ถ้าคุ้นเคยกันมากๆ ปลากัดก็อาจจะแสดงพฤติกรรมแปลกๆ เฉพาะตัวออกมา

 

คลุกคลีใกล้ชิดกันขนาดนี้ ความรู้สึกที่มีต่อปลาเปลี่ยนไปไหม

ช่วงแรกๆ ที่ถ่ายปลากัด กี่สิบตัวก็เลี้ยงไว้หมด ดูแลอย่างดีจนหมดอายุขัยไป ปกติที่ฟาร์มจะไม่ตั้งชื่อให้ปลาเพราะมีจำนวนเยอะมาก แต่ถ้าใครเลี้ยงปลากัดเป็นสัตว์เลี้ยงก็มักตั้งชื่อให้ ผมเคยแนะนำคนที่เลี้ยงให้ตั้งชื่อว่าเฮนรี่หรือเอลิซาเบธ เพราะปลากัดอายุขัยแค่ 1-2 ปี เวลาปลาตายจะได้เป็นเฮนรี่ที่ 1 เมื่อก่อนเวลาปลากัดตาย ผมก็เศร้าเสียใจ แต่หลังๆ เข้าใจวัฎจักรชีวิตเขามากขึ้น ยิ่งทำให้เราใส่ใจดูแลเขามากขึ้นในช่วงเวลาที่เขาอยู่กับเรา

อะไรทำให้ยังถ่ายปลากัดมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างที่บอกว่าผมถ่ายปลากัดเพราะอยากพิสูจน์ตัวเอง ไม่ได้หวังสร้างรายได้จากตรงนี้ แล้วก็มีโอกาสได้ถ่ายภาพประกอบหนังสือให้กรมประมง ได้ทำสมุดบันทึกของสำนักปลัดนายกในชื่อปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติไทยแล้ว ภาพปลากัดที่ผมถ่ายก็ได้รับคัดเลือกให้ทำแสตมป์ชุดปลากัดอีก แต่ที่ทำให้ความรู้สึกผมเปลี่ยน คือตอนที่ภาพปลากัดที่ผมถ่ายได้นำไปประมูลหารายได้เข้ามูลนิธิจุฬาภรณ์ในงานประมงน้อมเกล้า

ในงานมีผู้ชายคนหนึ่งยืนดูภาพที่ผมถ่ายอยู่นานมาก ผมเลยเดินเข้าไปคุย ถึงได้รู้ว่าเขาคือเกษตรกรเจ้าของปลาตัวนั้น พอว่างจากทำนาก็มาเพาะปลากัดขาย เขาเล่าว่ามีคนมาติดต่อขอปลาเพื่อส่งให้กรมประมง เขาก็คัดตัวที่สวยที่สุดที่มีให้ไปโดยที่ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไร เพิ่งมารู้ทีหลังเลยตามมาดู แล้วเขาก็น้ำตาคลอและขอบคุณผมมาก เพราะทำให้มีคนมาขอซื้อปลาตัวนั้น เงินที่ขายได้ทำให้คุณภาพชีวิตครอบครัวเขาดีขึ้น ซึ่งจริงๆ ถึงไม่ได้เงิน แค่ปลาที่เขาเลี้ยงได้รับคัดเลือก ก็เป็นความภูมิใจของเขามากแล้ว

ส่วนผมอาจจะจำพันธุ์ปลาไม่ได้ทั้งหมด แต่ผมจำปลาทุกตัวที่ได้รับมาจากเกษตรกรได้
และก็จำเกษตรกรทุกคนที่ผมรู้จักได้ การที่เราได้แชร์ความสุขกับคนที่รักชอบในปลากัดเหมือนกัน
จากคนที่มีแพชชั่นเดียวกันกลายเป็นมิตรภาพ สิ่งเหล่านี้คือกำลังใจที่ทำให้ผมยังไปต่อกับปลากัดอยู่

แล้วก็ยังนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ยิ่งถ่ายปลากัดมากขึ้น ผมยิ่งหลงใหลในความสวยงามของเขา เลยปิ๊งไอเดียว่าอยากทำโปรดักต์ที่เป็นลายปลากัด ลองเสิร์ชหาข้อมูลดูไม่เจอว่ามีใครทำ ผมว่าน่าจะเพราะปลากัดตัวเล็กมาก ถ่ายให้ได้ดั่งใจว่ายากแล้ว การขยายสเกลยิ่งยากขึ้นไปอีก แต่ด้วยแพชชั่นและความบ้าส่วนตัวทำให้ผมไม่ยอมแพ้ครับ (หัวเราะ) คนเราคิดถ้าจะทำอะไรแล้วต้องไปให้สุด คนที่จะประสบความสำเร็จ ก็ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นยังไม่ทำ ในที่สุดผมก็ได้ผ้าพันคอลายปลากัดในชื่อแบรนด์ Luna Garden

ผมอาจจะไม่มีความรู้เรื่องผ้าเรื่องแฟชั่นเลย แต่ผมรู้เรื่องการถ่ายภาพ เรื่องสี และการพิมพ์ภาพ ก็ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ทำแล้วมั่นใจว่าต้องมีคนก๊อบปี้แน่นอน แต่ไม่ซีเรียสเลยครับ เพราะสิ่งที่เลียนแบบกันไม่ได้คือสไตล์และคุณภาพ เอาแค่ภาพต้นแบบที่จะใช้พิมพ์ ถ้าต้องมาไดคัตหางปลาก็เสียเวลามากแล้ว ซึ่งผมรู้กระบวนการส่วนนี้ดี ฉะนั้น ความเจ๋งในการถ่ายปลากัดสำหรับผมคือ ‘ถ่ายแล้วจบ’ ผมอาจศรัทธาการทำงานของช่างภาพสมัยก่อนที่ใช้กล้องฟิล์ม ซึ่งต้องอาศัยฝีมือจริงๆ ในมุมมองผม ช่างภาพที่ดีจะไม่จบงานด้วยการรีทัชครับ

เป้าหมายต่อไป

ผมอยากเอาภาพปลากัดลงในพอร์ชเลนกับพวกของใช้ในบ้าน ผมรู้สึกสนุก ท้าทาย
และมีความสุข เพราะเหมือนเรากำลังก้าวไปอีกโลกที่ยังไม่เคยมีใครไป
นอกจากนี้ ผมจะใช้ทุนส่วนตัวทำหนังสือปลากัดส่งให้มิวเซียมสัตว์น้ำทั่วโลก
เพราะอยากให้คนรู้จักปลากัดมากขึ้น ผมโชคดีที่ครอบครัวสนับสนุนสิ่งที่ผมทำ

 

ตอนผมถ่ายปลากัดใหม่ๆ เพื่อนช่างภาพด้วยกันถามว่า ‘ถ่ายปลากัดแล้วได้อะไร’ ผมตอบไปว่า ‘ผมมีความสุขที่ได้ทำ ได้เหนื่อย และได้แก้ปัญหา’ ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ อย่างเกล็ดปลากัดที่มองด้วยตาเปล่าอาจจะไม่เห็นแต่พอถ่ายภาพออกมาแล้วเห็น ผมอยากเอาไปทำลายผ้าม่านหรือเพนต์ลงบนเรือยอชต์ หรืออยากใช้ดีเทลความเป็นปลากัดไปตกแต่งโรงแรม แค่ได้คิดจินตนาการก็รู้สึกสนุกแล้ว เมื่อก่อนผมเป็นช่างภาพที่ทำงานตามโจทย์ แต่พอวางความเป็นช่างภาพมืออาชีพลง ผมรู้สึกอิสระกับการพาตัวเองสู่โลกกว้าง ได้ใช้ไอเดียความครีเอทสร้างสรรค์ผลงานออกมา

ผมไม่รู้หรอกว่า ตัวเองหรือปลากัดจะพาผมเดินทางไปถึงไหน รู้แต่เพียงว่า ผมจะตั้งใจและทำทุกอย่างให้เต็มที่ก็พอ

ศิลปิน การถ่ายทอดความสวยงามการเคลื่อนไหวของปลากัด

พัชร อุ่นแสงจันทร์

จากนักจับภาพ ‘ปลากัด’
สู่นักสร้างแบรนด์จากปลากัดคนแรกของไทย

ไบร์ท พัชร ศิลปินภาพถ่าย

ขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชม และจะนำโอกาศที่ได้ไปจัดการแสดงภาพถ่าย เพื่อถ่ายทอดความงามที่หลากหลาย ที่จะทำให้หลายๆท่านรับชมกันต่อไปแน่นอน

You may also like

Leave a Comment